วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

วรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง

วรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง ส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นกลอนสวด กลอนบทละครนอก กลอนนิทาน และกลอนแหล่ ลักษณะของแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้   
๑. วรรณกรรมกลอนสวด วรรณกรรมที่ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ การสวดหนังสือ คือ การอ่านวรรณกรรมเป็นทำนองต่างๆ สวดโอ้เอ้วิหารราย หรือโอ้เอ้ศาลาราย สวดมาลัย สวดคฤหัสถ์ นอกจากผู้ฟังจะได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจแล้ว ยังได้คติธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ประเพณีการสวดหนังสือนิยมปฏิบัติในวัด มีการสวดในครัวเรือนบ้าง เพื่อเป็นกิจกรรมบันเทิงยามว่าง เช่น เจ้าเงาะสวดสุบิน คำกาพย์ให้นางรจนาฟังในเรื่องสังข์ทอง
๒. วรรณกรรมกลอนบทละครนอก เป็นกลอนที่เลือกเฉพาะเนื้อเรื่องตอนสนุกสนานจากวรรณกรรมพื้นบ้านมาประพันธ์ จึงพบต้นฉบับเป็นตอนๆ ไม่จบเรื่องบริบูรณ์ ละครนอกเป็นการแสดงของชาวบ้านที่นิยมกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะบทประพันธ์ไม่เคร่งครัด ฉันทลักษณ์ ใช้สำนวนโวหารตามแบบฉบับชาวบ้าน เช่น ใช้คำหยาบ ไม่นิยมใช้ราชาศัพท์ วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลางประเภทกลอนบทละครนอก ได้แก่ เรื่องพิกุลทอง มณีพิชัย ไชยเชษฐ์ พระรถ – เมรี สังข์ทอง มโนห์รา           
๓. วรรณกรรมกลอนนิทาน วรรณกรรมกลอนนิทานต่างจากวรรณกรรมประเภทกลอนบทละครนอก เพราะนิยมประพันธ์จนจบเรื่องบริบูรณ์ ในสมัยที่กิจการโรงพิมพ์เจริญรุ่งเรือง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การพิมพ์กลอนนิทานออกจำหน่ายได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างยิ่ง ประชาชนนิยมซื้อกลอนนิทานมาอ่านสู่กันฟังในครัวเรือน กิจการโรงพิมพ์ที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น คือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือโรงพิมพ์วัดเกาะ
๔. วรรณกรรมกลอนแหล่ กลอนแหล่ คือ การนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดก มาประพันธ์เป็นรูปแบบกลอนแหล่ เรียกว่า แหล่ใน หรือนำบางตอนของนิทานพื้นบ้านมาประพันธ์เรียกว่าแหล่นอก นอกจากนี้ยังมีการประพันธ์กลอนแหล่ประเภทเบ็ดเตล็ด เช่น กลอนแหล่บายศรี กลอนแหล่ให้พร กลอนแหล่ทำขวัญนาคการแหล่เป็นการขับลำนำชนิดหนึ่งที่อนุญาตให้พระภิกษุเป็นผู้ขับลำนำได้โดยไม่ถือว่าผิดศีลเพราะเนื้อหาการแหล่มาจากชาดก การแหล่มีลักษณะการเอื้อนและใช้เสียงสูงต่ำคล้ายกับการอ่านทำนองเสนาะ ภิกษุนักแหล่ที่มีความสามารถมักจะใช้ปฏิภาณด้นกลอนสด จึงมีเนื้อเรื่องบางตอนที่ออกนอกชาดกบ้าง




บล็อกนี้ใช้สำหรับวิชาวรรณกรรมท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น