วรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มาจาก ปัญญาสชาดก กวีพื้นบ้านได้นำเนื้อหามาจากชาดกเรื่องนี้มาประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น โคลง ค่าวธรรม ค่าวซอ เป็นต้น วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือมี ๔ ประเภทคือ วรรณกรรมโคลง วรรณกรรมค่าวธรรม วรรณกรรมค่าวซอ และวรรณกรรมเบ็ดเตล็ด แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดดังนี้
๑. วรรณกรรมโคลง
โคลง หรือเรียกตามสำเนียงท้องถิ่นภาคเหนือว่า กะโลง เป็นฉันทลักษณ์ที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์มังรายตอนปลาย กวีสมัยอยุธยาได้นำรูปแบบโคลงของภาคเหนือมาประพันธ์เป็น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ตัวอย่างวรรณกรรมโคลงของภาคเหนือที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น โคลงพรหมทัต โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน โคลงพระลอสอนโลก โคลงปทุมสงกา เป็นต้น
๒. วรรณกรรมค่าวธรรม
ค่าวธรรม หรือ ธรรมค่าว คือ วรรณกรรมที่ประพันธ์ตามแนวชาดก ฉันทลักษณ์ของค่าวธรรมส่วนใหญ่ เป็นร่ายยาว แทรกคาถาภาษาบาลี ภิกษุจะนำค่าวธรรมมาเทศน์ในอุบาสกอุบาสิกาฟังในวันอุโบสถศีล ค่าวธรรมจึงจัดเป็นวรรณกรรมศาสนา ตัวอย่างวรรณกรรมค่าวธรรม เช่น พรหมจักร บัวรมบัวเรียว มหาวงศ์แตงอ่อน จำปาสี่ต้น แสงเมืองหลงถ้ำ สุพรหมโมขะ หงส์ผาคำ วัณณพราหมณ์ เป็นต้น
๓. วรรณกรรมค่าวซอ
ค่าวซอ เป็นคำประพันธ์ภาคเหนือรูปแบบหนึ่ง นิยมนำมาอ่านในที่ประชุมชน เรียกว่า เล่าค่าว หรือใส่ค่าวเนื้อเรื่องเป็นนิทานพื้นบ้าน เป็นที่นิยมของชาวบ้าน เพราะได้ฟังเสียงไพเราะจากผู้อ่านและได้รับความเพลิดเพลินจากเนื้อเรื่องนิทาน การอ่านค่าวนิยมในงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน บวชลูกแก้ว (บวชเณร) และงานปอยเข้าสังข์ (งานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ)
ตัวอย่างวรรณกรรมค่าวซอที่สำคัญ เช่น วรรณพราหมณ์ หงส์หิน จำปาสี่ต้น บำระวงศ์หงส์อำมาตย์ เจ้าสุวัตรนางบัวคำ เป็นต้น
๔. วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด
วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด คือ วรรณกรรมขนาดสั้น เช่น คำอู้บ่าวอู้สาว คำเรียกขวัญ หรือ คำฮ้องขวัญ จ๊อย ซอ คำปันพร
บล็อกนี้ใช้สำหรับวิชาวรรณกรรมท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น